โดยทั่วไปก๊าซชีวภาพ ประกอบด้วย ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ระบบลดปริมาณก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ใช้สำหรับลดปริมาณก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) เพื่อทำให้ก๊าซสะอาดขึ้น และลดการกัดกร่อนอุปกรณ์ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือชุดหัวเผา ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ วาล์ว และท่อภายในระบบ โดยก๊าซชีวภาพจะมีปริมาณของก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) อยู่ประมาณ 1,000 – 20,000 ppm
หลักการทำงานของระบบลดปริมาณก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์
การลดปริมาณไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) สามารถทำได้หลายวิธี แต่กระบวนการลดก๊าซดังกล่าวเป็นกระบวนการทางชีววิทยา ซึ่งปัจจุบันเป็นวิธีที่มีศักยภาพในระยะยาว ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพการปรับปรุงก๊าซชีวภาพและต้นทุนในการเดินระบบ เนื่องจากไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆ ซึ่งหลักการทำงานของชุดปรับปรุงก๊าซชีวภาพหรือ H2S Bio-Scrubber Unit จะทำงานโดยการใช้แบคทีเรียในกลุ่ม Thiobacillus Sp. ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ใช้ H2S (ในก๊าซชีวภาพ) เป็นอาหารหรือแหล่งพลังงานในการดำรงชีวิตและจะเปลี่ยน H2S ให้กลายเป็นซัลเฟอร์ในรูปของแข็งได้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการลดปริมาณความเข้มข้นของก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ในก๊าซชีวภาพ ส่งผลให้ก๊าซชีวภาพมีความสะอาดและคุณภาพที่ดีขึ้น เหมาะต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในรูปการผลิตพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้า
ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีระบบลดปริมาณก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์
ลดการสึกกร่อน
ค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเทียบกับกระบวนการทางเคมี
ยืดอายุการใช้งานให้กับชิ้นส่วนเครื่องยนต์ วาล์ว และข้อต่อท่อก๊าซต่างๆ ในระบบ
ทำให้คุณภาพของก๊าซชีวภาพได้ตามมาตรฐานค่ารับประกันและข้อกำหนดของเครื่องยนต์
ยืดเวลาการเดินระบบและซ่อมบำรุง
ทำให้ SOx ที่เป็นมลพิษจากกระบวนการเผาไหม้ก๊าซชีวภาพ มีค่าต่ำกว่ามาตรฐานการปล่อยมลพิษในโรงงาน (SOx < 60 ppm)
เพิ่มความปลอดภัย ลดอันตรายที่เกิดจากการรั่วของวาล์วและการระเบิด (การระเบิดของ Biogas Boiler)
02 พฤศจิกายน 2565
ผู้ชม 3403 ครั้ง